วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แนะนำมหาวิทยาลัย


ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๗  เดิมมีชื่อว่า ”วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง”(Chombueng Village Institute) โดยก่อตั้งเป็นสถานศึกษาตามแนวคิด  "วิทยาลัยหมู่บ้าน"
ของประเทศตุรกีมีจุดมุ่งหมายในการก่อตั้ง ๔ ประการคือ
๑. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในชนบทที่ต้องการพัฒนา  โดยคัดเลือกนักเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารเข้าศึกษาเป็นอันดับแรกเมื่อศึกษาสำเร็จแล้วให้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตน
๒. เพื่อปลูกฝังนักศึกษาครูให้รักอาชีพครูโดยผ่านการศึกษาเล่าเรียนและฝึกงานหลายแบบ  เพื่อนำความรู้ความชำนาญไปลงมือปฏิบัติได้
๓. เพื่อให้นักศึกษาครูรู้จักปฏิบัติตนในการเข้าสังคมโดยอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตยคือการเคารพนับถือกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมีสติ
๔. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในท้องถิ่นใกล้เคียง  ในระยะแรกวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึงได้เปิดสอนหลักสูตร ๕ ปี  โดยรับนักศึกษาทุนจากถิ่นทุรกันดารจากทั่วประเทศซึ่งสำเร็จชั้น
ประถมศึกษาปีที่ ๗ เข้าเรียนเมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา



อ่านเพิ่มเติม

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

02 - ปัจจัยที่ทำให้เกิดศิลปะพื้นบ้าน

บทที่ ๒
ปัจจัยที่ทำให้เกิดศิลปะพื้นบ้าน

๒.๑  ความจำเป็นด้านการใช้สอย
                การใช้ชีวิต ประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า จนถึงเวลาพักผ่อนนอนหลับ ต้องพึ่งพาบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เกิดความสะดวกสบายในการปฏิบัติงาน หรือการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ นับตั้งแต่การหุงหาอาหารในตอนเช้า ต้องใช้ภาชนะหุงต้ม ตักน้ำ ใส่ข้าวปลาอาหาร เช่น เตา หม้อไห ถ้วย จาน ชาม ฯลฯ    การออกไปประกอบอาชีพที่คนชนบทส่วนใหญ่ทำกัน คือ อาชีพเกษตรกรรม กสิกรรม ก็ต้องพึ่งพาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ชาวนาชาวไร่ต้องใช้คราด ไถ แอก กระออม กระบุง กระจาด ตะกร้า เพื่อทำไร่ไถนา ลำเลียงพืชผล ชาวบ้านในท้องถิ่นที่มีแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ต้องใช้เครื่องมือในการดัก จับ ขัง สัตว์น้ำ เช่น ข้อง อีจู้ ลอบ ไซ กระชัง เพราะความจำเป็นในการใช้สอยนี้เองชาวบ้านจึงต้องทำเครื่องใช้เหล่านี้ขึ้นใช้เองในท้องถิ่น
                ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ    จะมีรูปแบบตรงตามวัตถุประสงค์และเหมาะสมกับสภาพท้องที่นั้น หรือให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เช่น การสานกระติบ หรือ ก่องข้าว มักมีรูปร่างที่ไม่สูงนัก เพราะต้องใช้มือล้วงหยิบข้าวรับประทาน และนิยมทำเป็นสองชั้น เพื่อช่วยรักษาข้าวที่นึ่งสุกแล้วให้อยู่ในสภาพดี ไม่บูดแฉะเพราะไอน้ำที่เกาะ ทำให้ข้าวอยู่ได้นาน  ขนาดของกระติบก็จะมีขนาดที่เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยในโอกาสต่างๆ เช่น กระติบข้าวสำหรับไปวัดหรือสำหรับแม่ค้าในตลาดก็มักมีขนาดใหญ่ กระติบข้าวประจำบ้านก็จะมีอีกขนาดหนึ่ง ในการเดินทางไกลหรือการพกพาในการออกไปประกอบอาชีพก็จะมีอีกขนาดหนึ่งและเพื่อให้เหมาะสม สะดวกต่อการนำติดตัวไปขณะเดินทาง จึงทำที่สำหรับหิ้วหรือสะพาย
                ความจำเป็นด้านการใช้สอยจึงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญมาก ที่ทำให้ชาวบ้านต้องสร้างเครื่องมือหัตถกรรมเพื่อตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน การประกอบอาชีพเป็นเหตุผลหลัก
๒.๒  ทรัพยากรท้องถิ่น
                สภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่ง ย่อมมีทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เช่น จะพบว่าไม้ไผ่มักขึ้นอยู่ตามแถบร้อนชื้นทั่วไปได้แก่ จังหวัดชลบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ภาคเหนือก็จะพบไม้สักขึ้นอยู่มากมาย ชาวบ้านจึงรู้จักใช้ภูมิปัญญาในการเลือกสรรวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติตามท้องถิ่นของตนเหล่านั้น มาดัดแปลงสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานตามหน้าที่ใช้สอย ดังจะพบได้จากในภาคใต้ ชาวบ้านนิยมนำใบจาก ใบหลาวโอนมาทำเป็นภาชนะใช้ตักน้ำ นำต้นกระจูดที่มีอยู่มากมาสานเป็นเสื่อ นำย่านลิเพาสานเป็นตะกร้า ส่วนภาคเหนืออุดมไปด้วยไม้สัก จึงนำไม้สักมาปลูกสร้างบ้านเรือน ทำสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งประดับตกแต่ง ทั้งภาคเหนือยังมีต้นหม่อนที่เหมาะกับการเลี้ยงไหมที่สามารถนำรังของมันมาทอเป็นผ้าไหม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ด่านเกวียนจะมีดินดีที่เหมาะกับการทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น ไห ปลาร้า โอ่ง อ่างน้ำ เพื่อใช้สอยสำหรับชาวบ้านและส่งไปขายยังถิ่นอื่นบ้าง                
                ทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์รู้จักเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นของตนสร้างสรรค์สิ่งของเครื่องใช้อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ เราจะพบว่าวัสดุต่างชนิดกันมาสร้างให้เกิดประโยชน์ใช้สอย แม้จะตอบสนองความต้องการใช้สอยอย่างเดียวกัน แต่ก็ยังมีความต่างกันเพราะวัสดุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เฉพาะตัวแตกต่างกัน เช่น การจักสานด้วยไม้ไผ่ต่างชนิดกันผลงานเครื่องจักสานก็จะออกมาไม่เหมือนกัน เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนก็จะมีเอกลักษณ์ คือสีสันที่สวยงาม ต่างจากเครื่องปั้นดินเผาของทางภาคเหนือ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวัสดุทรัพยากรท้องถิ่นที่ชาวบ้านสามารถใช้ภูมิปัญญามาปรับแปรให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์นั่นเอง
๒.๓  สภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศ
                มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการปรับตัวแก้ปัญหา ปัญหาที่มนุษย์ต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไปได้ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้กำหนดนั่นคือ สภาพของภูมิประเทศและสภาพดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้น จึงทำให้มนุษย์สร้างงานขึ้นมาเป็นการแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาพธรรมชาติ
                สภาพภูมิศาสตร์มีผลต่อการสร้างที่พักอาศัยเป็นอันดับแรก การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามฤดูกาล ทำให้มนุษย์ต้องแก้ปัญหาในการออกแบบบ้านเรือนสำหรับพักอาศัยให้เกิดความเหมาะสม ปกป้องความร้อนความหนาวหรือภัยพิบัติ เช่น บริเวณท้องที่ภาคกลางของประเทศไทยซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม พอฤดูฝนก็มีความชื้นแฉะเนื่องจากฝนตก หลังจากฤดูฝนก็เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองก็จะขึ้นจนล้นตลิ่ง เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติที่หมุนเวียน เปลี่ยนไปเช่นนี้ ชาวบ้านอาศัยอยู่แถบนี้ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการออกแบบบ้านเรือนพักอาศัยที่ทำเป็นแบบใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันปัญหาในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากินอีกด้วย
                และเนื่องจากการเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือน ชาวบ้านมักเลือกอยู่บริเวณริมฝั่งน้ำหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อความสะดวกต่อการใช้น้ำอุปโภค บริโภค และเป็นทางสัญจรไปมา ลักษณะเช่นนี้เราจะทราบว่า ชุมชนที่อยู่บริเวณริมน้ำก็จะสร้างที่พักอาศัยในลำน้ำในลักษณะของเรือนแพ
                นอกจากบ้านเรือนแล้ว สภาพภูมิประเทศยังเป็นเหตุที่ต้องทำให้ชาวบ้านแก้ปัญหาเรื่องของการสัญจรไปมาทางบกและทางน้ำด้วยการสร้างพาหนะ เช่น เรือ แพ เรือซึ่งมีหลายลักษณะตามแต่สภาพของภูมิประเทศ จึงแตกต่างกันไป เช่น เรือที่ใช้ในลำคลอง เรือที่ใช้ในทะเล เช่น เรือประมง พาหนะทางบก   เช่น เกวียนลักษณะต่าง ๆ  ที่มีความหลากหลายตามการใช้งานต่างสภาพภูมิประเทศ
                สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตว่าสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เป็นส่วนที่ทำให้ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำมาหากิน   เพื่อให้เหมาะสมสภาพแวดล้อมนั้น ๆ จะเห็นได้จากอุปกรณ์เครื่องมือดักจับสัตว์ เช่น ข้อง ก็จะมีทั้งข้องสะพายแบบธรรมดาและข้องลอยที่มีประโยชน์ใช้สอยต่างกันตามสภาพแวดล้อม ข้องสะพายจะใช้ใส่สัตว์น้ำตามแหล่งน้ำตื้น จะทำให้เป็นทรงสูงใช้สะพาย ส่วนข้องลอยจะทำทรงเตี้ยทางนอน ติดทุ่นลอยด้วยไม้ที่เบา สามารถลอยน้ำได้ให้ส่วนล่างของข้องจมน้ำพอประมาณ ข้องลอยจะลอยตามผู้ใช้ไป ซึ่งมีความสะดวกเวลาใช้ในสภาพที่น้ำลึก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่ใช้ต่างสภาพภูมิประเทศ
                ส่วนสภาพดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อการสร้างบ้านเรือนนั้น จนเห็นได้ว่ามีการแก้ปัญหาเรื่องของสภาพอากาศ ในสิ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้น เช่น การสร้างเรือนพักอาศัยในสภาพท้องถิ่นที่มีอากาศร้อนอบอ้าว การสร้างบ้านจึงต้องพยายามเปิดช่องประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ส่วนเรือนพักอาศัยในภาคเหนือที่ค่อนข้างหนาวเย็น จะมีการออกแบบให้มีช่องหน้าต่าง ประตูที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับเรือนไทยในภาคกลาง
๒.๔  ประเพณีและวัฒนธรรม
                สังคมและวัฒนธรรม เช่น สังคมในชนบทของไทย จะมีการรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้างตามสภาพภูมิประเทศ การรวมตัวดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดลักษณะของหมู่บ้านขึ้น  ในการอยู่ร่วมกันของสังคมชนบทเช่นนี้ ก็จะต้องมีสิ่งที่สมาชิกในสังคมยอมรับนับถือและปฏิบัติตามต่อกันในทุกคนสังคมและท้องถิ่นสืบทอดต่อกันมา  ที่เรียกว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี  เช่น การทำบุญตักบาตร การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับ การเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย หรือในวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ การสร้าง ประดิษฐ์เครื่องใช้ในพิธีจึงเกิดขึ้น
                กิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรม      มีส่วนที่สำคัญในการปรับปรุงศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งแต่เกิดมุ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยให้มีความก้าวหน้าขึ้น เพราะการใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมหรือคนหมู่มากต้องปรับปรุงงานให้มีความประณีตมากขึ้น ทั้งเป็นการสนองตอบต่อความต้องการด้านจิตใจที่เห็นได้ทั่วไปคือผ้านุ่งห่ม เพื่อจะนุ่งห่มไปวัด หรือในงานพิธีที่ต้องพิถีพิถันใช้ชิ้นที่ประณีตงดงามกว่าชิ้นที่ใส่ไปทำไร่ไถนา เครื่องหาบ-คอน เมื่อต้องหาบคอนสิ่งของไปทำบุญที่วัดย่อมต้องใช้ชิ้นที่ประณีตงดงามมากกว่าชิ้นที่ลำเลียงพืชผลไปตลาด ประเพณีของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชนมีความแตกต่างกันเท่าใด งานศิลปะพื้นบ้านก็นิยมมีลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น
                นอกเหนือจากประเพณีที่เป็นปัจจัยให้ต้องมี การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้แล้ว สภาพทางวัฒนธรรมที่เป็นการปลูกฝังกันมาครั้งบรรพบุรุษในการอบรมสั่งสอนลูกหลานให้อยู่ในศีลธรรม น้ำใจเมตตาอารี โอบเอื้อ ก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นในหลายลักษณะ เช่น ในภาคเหนือหรือบางท้องถิ่นของภาคอีสาน เราจะพบว่า มีการวางตุ่มน้ำขนาดเล็กใส่น้ำสะอาดตั้งไว้หน้าบ้าน หรือบริเวณส่วนชานหรือระเบียง จะมีส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ ร้านน้ำเพื่อใช้เป็นที่ตั้งหม้อน้ำดินเผาเล็กๆ ไว้สำหรับใส่น้ำดื่ม พร้อมกระบวนตักน้ำไว้ทุกบ้าน เพื่อให้แขกผู้มาเยี่ยมเยือนดื่มหรือให้กับผู้ที่สัญจรไปมาได้ดื่มแก้กระหาย
                นอกจากนี้แล้วยังมีการตั้งศาลาน้ำร้อน คือ ศาลาที่มีผู้สร้างอยู่ริมทางสัญจรทางบก หรือศาลาท่าน้ำ มีการจัดเตรียมน้ำร้อนน้ำชาไว้สำหรับผู้เดินทางผ่านไปมา จะได้นั่งพักหายเหนื่อย ศาลาเหล่านี้ชาวบ้านหรือคหบดีใจบุญในละแวกนั้น ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้สัญจรได้มาพักหลบแดด หลบฝน เป็นการชั่วคราว ซึ่งก็มีความเชื่อว่าเป็นการสร้างกุศลอย่างหนึ่งและในบางครั้งจะเห็นว่าเป็นการสร้างเพื่ออุทิศแด่บุพการีหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว  ในด้านการแต่งกายของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ยังทำให้เราเห็นลักษณะของการสืบทอดวัฒนธรรมในการสร้างรูปแบบลวดลายที่ยืดถือกันมา
ในการสร้างงานหัตถกรรม เช่น งานทอผ้า ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนที่ปรากฏอยู่เฉพาะชุมชนนั้น ๆ เช่น การทอผ้าขิดของภาคอีสาน ซิ่นทอยกดอกของลำพูน ซิ่นน้ำไหลของไทยลื้อ เป็นต้น
๒.๕  คติความเชื่อ
                คติความเชื่อของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น หรือกลุ่มชน เป็นสิ่งที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่น ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ผีสาง เทวดา การเกิด การตาย เรื่องเกี่ยวกับศาสนา การประกอบอาชีพ ฯลฯ ซึ่งมีแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นขึ้นกับสภาพแวดล้อม คติความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการสร้างประดิษฐ์อุปกรณ์ เครื่องใช้ที่มีจุดมุ่งหมายในการยึดเหนี่ยวจิตใจทำขึ้นเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่จะมารังควานความสงบสุขของตน ของครอบครัว ของชุมชนและให้เป็นสิริมงคลต่อบุคคลดังกล่าวให้สังคมด้วย สิ่งของเครื่องใช้ในสถานที่และโอกาสต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยคติความเชื่อนี้ ซึ่งอาจเป็นของใช้ในพิธีกรรม เทศกาลหรือในชีวิตประจำวัน เช่น ในครัวเรือน หรือการประกอบอาชีพ
                ในด้านพิธีกรรม เช่น การเกิด เมื่อผู้หญิงคลอดลูก ต้องมีการอาบน้ำเด็ก ตัดสายสะดือ ฝังรกไว้โดยใส่หม้อดินนำไปไว้ที่หัวบันไดหรือแขวนไว้ที่ต้นไม้ เพื่อเด็กจะได้ไม่เที่ยวไกล       ความเชื่อเกี่ยวกับการตายของผู้หญิงที่คลอดบุตรว่าผีเป็นผู้มาเอาชีวิตไป จึงมีการปั้นตุ๊กตา พร้อมนำของเซ่นไหว้ไปไว้ที่ทางสามแพร่งหรือทิศทางที่เชื่อว่าผีจะผ่านไปยังบ้าน จากนั้นทำพิธีบอกกล่าวผีและทุบคอตุ๊กตานั้นให้หัก เป็นการหลอกผีให้มาเอาชีวิตตุ๊กตาแทนผู้หญิงที่คลอดบุตร และบุตร ซึ่งเรียกตุ๊กตานี้ว่า ตุ๊กตาเสียกบาล จะมีการทำพิธีตามความเชื่อนี้ต่อเมื่อหญิงนั้นเจ็บท้องใกล้คลอดบุตร
                ความเชื่อเกี่ยวกับการทำตุงหรือธงของภาคเหนือ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาหรือสร้างอุทิศแก่ผู้ตาย โดยเชื่อว่าตุงมีลักษณะเป็นผืนยาว เมื่อสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาหรืออุทิศให้ผู้ตายแล้ว  ผู้ตายจะสามารถเกาะชายตุงขึ้นสวรรค์   หรือไปสู่ดินแดนแห่งพุทธภูมิได้
                ความเชื่อของทางภาคเหนือในการนำหำยนต์คือไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แกะสลักเป็นลวดลาย ติดตั้งไว้เหนือประตูทางเข้าสู่ห้องนอนของเรือน ซึ่งในบางครั้งก็พบเห็นได้ตามโบสถ์หรือวิหาร เพื่อป้องกันความชั่ว อัปมงคลความเลวร้าย มิให้ล่วงล้ำเข้าไปสู่ผู้พักอาศัย

01 - ความรู้เรื่องศิลปะพื้นบ้าน

บทที่ ๑
ความรู้เรื่องศิลปะพื้นบ้าน

๑.๑  ความหมายของศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art)
มีนักวิชาการด้านศิลปะพื้นบ้านซึ่งได้ให้ความหมายของศิลปะพื้นบ้านไว้ดังนี้
                วิโรฒ  ศรีสุโร (๒๕๒๘:๘๖) ให้ความหมายว่า เป็นผลงานสำเร็จของชาวบ้านที่มีคุณค่าทางศิลปะพอสมควร เป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของช่างระดับพื้นบ้าน ที่สามารถแก้ปัญหาธรรมดาๆ ให้ดูดี มีลักษณะสืบทอดกันมาต่อหลายชั่วอายุคน ส่วนใหญ่จะเป็นผลงาน   ทางเครื่องมือเครื่องใช้ในการยังชีพ และจรรโลงใจในพุทธศาสนา ผลิตผลของงานศิลปะพื้นบ้าน    จึงเน้นหนักในทางประโยชน์ใช้สอยเป็นจุดใหญ่ ความงามจึงแสดงออกมาจากความเรียบง่าย ซื่อ ไม่รกรุงรัง หรือมากไปด้วยการตกแต่งจนเกินเลย
                 มโน   พิสุทธิรัตนานนท์  (๒๕๓๙:๔)  ได้กล่าวว่า หมายถึง  ผลงานศิลปะที่ชาวบ้านหรือกลุ่มคนในกลุ่มชนในแต่ละพื้นถิ่นประดิษฐ์สร้างขึ้นตามความจำเป็น  และความรู้สึกนึกเห็นตนเอง  เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านการดำรงชีวิต  และความต้องการคุณค่าด้านความงาม  ผลงานเป็นศิลปะพื้นบ้าน  หรือศิลปกรรมพื้นถิ่น  และหัตถกรรมพื้นบ้าน  ซึ่งมีลักษณะเป็นงานช่างฝีมือหรือช่างศิลป์  และอาจเรียกว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรม
                 และยังหมายถึง  ผลงานศิลปะที่ใช้วัสดุพื้นถิ่น  ในการประดิษฐ์สร้าง  ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ  คือ  ความคิด ฝีมือ ความเรียบง่าย  ประโยชน์ใช้สอย  และความงามบนพื้นฐานของธรรมชาติแวดล้อม  สังคม  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ  ศิลปะพื้นบ้านจึงมีความหมายต่อการดำรงชีวิต  และมีคุณค่าต่อการบำรุงขวัญ  เป็นศิลปกรรมที่มีการศึกษาและสืบสานที่เป็นไปในเชิงวัฒนธรรม
จากคำนิยามของ ศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) จะเห็นได้ว่า ศิลปะพื้นบ้านหรือศิลปะชาวบ้าน เป็นวัฒนธรรมด้านวัตถุสร้างขึ้นโดยชาวบ้าน ที่ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างสิ่งของ เครื่องใช้ สิ่งก่อสร้าง งานศิลปะ ออกมาให้เห็นเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นของตน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้มิได้ผ่านการศึกษามาอย่างเป็นระบบ หากแต่เป็นการสืบทอดมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ที่ถ่ายทอดเรียนรู้โดยอาศัยการถ่ายทอดปากเหล่าและการเลียนแบบประกอบกันไป การสร้างงานศิลปะพื้นบ้านทำขึ้นเพื่อสอบสนองความเป็นด้านประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ประเพณี ความเชื่อ   ของกลุ่มชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมิได้มุ่งประโยชน์ด้านความงามเป็นหลัก
โดยทั่วไปแล้ว  ศิลปะพื้นบ้าน  จะเรียกรวมกับ  หัตถกรรม  คือ  ศิลปหัตถกรรม  เป็นศิลปหัตถกรรมที่เกิดจากฝีมือคนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง การประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นไปตามเทคนิคและรูปแบบที่ถ่ายทอดกันในครอบครัวโดยตรงจากพ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  โดยมีจุดประสงค์หลัก  คือ  ทำขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน  งานศิลปหัตถกรรมได้ถ่ายเท  มีอิทธิพลแก่กันและกัน  เช่นเดียวกับคติพื้นบ้าน  แล้วปรับปรุงให้เข้ากับสภาพของท้องถิ่น  จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง
                ศิลปะพื้นบ้านมักพบได้ทั่วไปตามชุมชนหรือในชนบทตามท้องถิ่นต่าง ๆ   ผู้สร้างมักเป็นชาวบ้านในท้องถิ่น ลักษณะของเครื่องมือ เครื่องใช้สิ่งก่อสร้าง จึงทำขึ้นมาเพื่อคนทั่วไปใช้ มิใช่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้หรือถ่ายทอดในหมู่บุคคลชั้นสูง ศิลปะพื้นบ้านจึงมีลักษณะที่เรียบง่าย  ไม่ซับซ้อน ไม่ผูกพันหรือขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ทฤษฎีทางศิลปะใด ๆ
                งานศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไปแล้ว จะแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมในแต่ละท้องถิ่นในลักษณะของรูปแบบ ขบวนการผลิต และวัสดุที่ใช้ ส่วนใหญ่มักเป็นไปเพื่อการดำรงชีพมากกว่า เพราะฉะนั้นศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอยู่ของชาวบ้าน   ในท้องถิ่นเป็นสำคัญ สิ่งที่เป็นศิลปะพื้นบ้านจึงมีลักษณะเป็นไปตามถิ่นกำเนิด ซึ่งอาจมีรูปแบบ วิธีการ และวัสดุแตกต่างกันไป ทั้งที่เป็นการใช้สอยอย่างเดียวกัน เช่น ภาชนะสำหรับตักน้ำที่ต้องมีไว้ใช้ทุกครัวเรือน ทางภาคใต้จะทำด้วยใบจากหรือกาบของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือต้นหลาวโอน ที่เรียกว่า หมา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นของทางใต้ ที่มีต้นหลาวโอนหรือต้นจากขึ้นอยู่มาก ทางภาคเหนือเป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่มีไม้ยาว ๒ ชิ้นที่ปลายไขว้กันเป็นที่ลือเรียกว่า น้ำทุ้งภาคอีสานจักสานด้วยไม้ไผ่เช่นกัน และเอาชันยาเพื่อป้องกันน้ำรั่ว มีไม้ดัดโค้งเป็นที่ถือ เรียกว่า คุ โดยเราจะเห็นว่าภาชนะทั้ง ๓ ชนิด มีจุดมุ่งหมายและประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียวกัน แต่ด้วยเพราะอยู่ในแหล่งกำเนิดท้องถิ่นที่ต่างกัน จึงทำให้ทรัพยากรที่ใช้มีความต่างกัน หรืออาจมีวัสดุเดียวกัน แต่วิธีการสร้างงานและรูปแบบที่สืบทอดของแต่ละถิ่นเป็นไปอย่างเฉพาะตัวเฉพาะถิ่น ซึ่งรวมถึงการมีรสนิยมตกทอดเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาในแต่ละท้องถิ่นที่ต่างกันด้วย
                ลักษณะพิเศษของศิลปะพื้นบ้าน เป็นผลงานที่มีความเรียบง่ายรูปแบบและวิธีการเป็นไปตามสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน แม้ว่าศิลปะพื้นบ้านส่วนใหญ่จะทำขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันหรือต่อสังคม เศรษฐกิจ ศาสนาและอื่นๆ โดยมีจุดประสงค์ที่ตรงตามหน้าที่เด่นชัดในตัวมันเอง แต่ก็พบว่ามีผลงานศิลปะพื้นบ้านจำนวนไม่น้อยที่ได้มีการทำขึ้นตามความพอใจของชาวบ้านเอง ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยไม่ได้รับใช้ความจำเป็นและความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น แต่เป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความรู้สึกด้านอารมณ์ อันเป็นสิ่งธรรมดาโลกที่มนุษย์พึงแสวงหาความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าบางสมัย บางเวลา ชาวบ้านอาจมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ มีเวลาเหลือเฟือที่จะประดิษฐ์ ประดับประดาผลงานให้มีความวิจิตรพิสดารกว่าเป็นอยู่ เช่น การเขียนภาพจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์และวิหาร การเขียนลวดลายลงบนเรือกอและ การแกะสลักลวดลายลงบนพนักด้านหน้าและท้ายของเกวียน ซึ่งงานเหล่านี้ล้านแล้วตามีรูปแบบที่เรียบง่าย แต่แสดงถึงความสุนทรีของผู้ทำ และเราจะพบว่าบางสิ่งบางอย่างทำขึ้นมาโดยแฝงความเชื่อไว้ด้วย
๑.๒  ลักษณะของงานศิลปะพื้นบ้าน
ศิลปะพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะตัวในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. ใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย เป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของงานพื้นบ้านเนื่องจากในแต่ละท้องถิ่น     มีทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อมในการอยู่อาศัย วัสดุในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่รองรับการคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นใช้ ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
๒. ทำขึ้นเพื่อการใช้สอย ศิลปะพื้นบ้านส่วนใหญ่แล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันตั้งแต่ การหุงอาหาร เช่น เตาดินเผา หม้อดินเผา หวดนึ่งข้าวเหนียว กระบุง กระจาด ฯลฯ การประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือในการดักจับสัตว์น้ำ ได้แก่ ข้อง ลอบ ไซ อีจู้ เครื่องใช้ในการทำนา เช่น คราด แอก ไถ ฯลฯ พิธีกรรมทางศาสนา เช่น ก่องข้าวขวัญของภาคอีสาน ขันซี่ของภาคเหนือ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตอบสนองด้านการใช้สอย มิได้มุ่งทำเพื่อตอบสนองทางด้านสุนทรียภาพ หากแต่สุนทรียภาพนั้นจะเกิดจากประสบการณ์ทักษะของผู้ทำในความเป็นผู้ชำนาญ
๓. เป็นผลผลิตที่ผู้ใช้และผู้สร้างเป็นผู้เดียวกัน งานศิลปะพื้นบ้านเกิดจากความเต็มใจของชาวบ้านในการสร้างสรรค์ โดยมีความจำเป็นในการใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ดังได้กล่าว   แล้วว่าศิลปะพื้นบ้านทำขึ้นเพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอย มิได้มุ่งทำเพื่อเศรษฐกิจหรือด้านการค้าขาย ไม่มีการแบ่งงานตามระบบของอุตสาหกรรม ชาวบ้านทำขึ้นเองในครัวเรือนของตน
๔. เป็นงานที่สร้างขึ้นด้วยมือ และใช้เครื่องมือที่ชาวบ้านที่คิดขึ้น มิได้อาศัยเครื่องจักรแต่อย่างใด ชาวบ้านจะสร้างงานด้วยมือตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาโดยการบอกเล่า ให้ทำตามแบบของที่มีอยู่
๕. มีรูปแบบเรียบง่าย แสดงลักษณะออกมาซื่อ ๆ ตรงตามหน้าที่ใช้สอยและมีความสัมพันธ์กับสัดส่วนของร่างกาย
๖. การมีรูปแบบเฉพาะถิ่น เกิดจากการสร้างสรรค์งานที่สืบต่อเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ อาจในลักษณะของหมู่บ้าน ท้องถิ่น ตระกูล สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานจนรู้จักกันดีทั่วไป จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น เครื่องจักสานพนัสนิคม เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ร่มบ่อสร้าง เป็นต้น (มารุต อัมรานนท์ ๒๕๓๓:๕) และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีรูปแบบเฉพาะถิ่น น่าจะเกิดจากการใช้วัสดุท้องถิ่นที่มีแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เราจะพบว่าวัสดุจากธรรมชาติบางชนิดไม่สามารถขึ้นได้  ในทุก ๆ พื้นที่    การมีทรัพยากรท้องถิ่นที่จำกัดในบางพื้นที่ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้งานบางชนิด เป็นตัวแทนของท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ เช่น หมาตักน้ำ ซึ่งเป็นของภาคใต้ ทำมาจากใบจากกาบหมาก ต้นหลาวโอน ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งไม่พบว่าภาคใดหรือท้องถิ่นใดนอกจากภาคใต้ที่มีภาชนะตักน้ำที่มีรูปแบบเช่นนี้ หรือเครื่องเขินที่เป็นรูปแบบเฉพาะของภาคเหนือ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัสดุพื้นถิ่นที่มีการนำมาใช้ ได้แก่ ไม้ไผ่ที่นำมาจักสาน หรือไม้ที่นำมากลึง แล้วใช้รักหรือหาง ซึ่งเป็นยางไม้ที่ได้จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ทางภาคเหนือทั่วไป ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในประเด็นของการ  มีรูปแบบเฉพาะถิ่น แต่จะชัดเจนมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยออกไป ตามองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้นๆ
๗. เป็นงานที่ใช้เวลาว่างในการสร้างสรรค์ เป็นการสร้างงานที่ไม่ได้คำนึงถึงเวลาในการสร้าง โดยมักใช้เวลาว่างหลักจากการงานประจำคือการกสิกรรม ซึ่งทำให้ในบางช่วงเวลาของฤดูกาล โดยไม่จำเป็นต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดทั้งปี ในช่วงเวลาว่างชาวบ้านก็จะหันมาทำงานอื่น เช่น จักสาน ทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่ได้เป็นอาชีพหลักแต่อย่างใด ผลผลิตที่เกิดขึ้นนำมาใช้ในครัวเรือน แต่หากว่าเหลือจากการใช้สอยจึงนำมาแลกเปลี่ยนกับผลผลิตอย่างอื่น
๘. เป็นงานที่สะท้อนวิธีการดำเนินชีวิต เครื่องมือ เครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านทำขึ้น จะเห็นว่าลักษณะการใช้สอยเป็นตัวกำหนดรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้นั้น การใช้สอยจึงเป็นการบ่งชี้ถึงวิถีทางการดำเนินชีวิต และค่านิยมที่สืบทอดกันมายาวนาน
๑.๓  ช่างผู้สร้างสรรค์งานศิลปะพื้นบ้าน
         การสร้างสรรค์งานพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น ย่อมต้องอาศัยฝีมือของช่างซึ่งอาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ และได้รับการฝึกฝนทำงานช่างจากครูช่างในท้องถิ่น หรือเป็นการถ่ายทอดในครอบครัว จนมีฝีมือที่จะสร้างงานไว้ใช้ในครัวเรือนของตน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของบรรดาช่างชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ  ในบาง ครั้ง ช่างก็คือพระสงฆ์ที่ได้อุทิศตนในการสร้างศาสนสถาน รวมถึงศิลปกรรมที่ใช้ตกแต่งรูปเคารพ เพื่อทะนุบำรุงศาสนา และเพื่อบุญกุศลตามความเชื่อที่ตกทอดกันมา
                ลักษณะของช่างพื้นบ้าน มีดังนี้
                ๑. เป็นช่างที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบันทางการช่าง อย่างเป็นระบบคือเป็นช่างชาวบ้านที่ฝึกหัดทำงานช่างมาจากบรรพบุรุษในครอบครัวของตน หรือฝึกหัดจากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านของตน        ตามประเภทของงานหัตถกรรมที่สนใจ เช่น จักสาน เครื่องปั้นดินเผา แกะสลัก การช่างพื้นบ้านงานที่ชาวชนบทมักทำได้แทบทุกครอบครัว เพราะต้องทำขึ้นใช้สอยในครอบครัวของตนเพื่อใช้เอง จึงมักสืบทอดกันในครอบครัวและสอนกันในหมู่เพื่อนบ้าน การเรียนรู้จึงเป็นการเรียนด้วยการฝึกฝนเป็นหลัก
                ๒. ความสามารถของช่างพื้นบ้าน มักไม่ใคร่มีการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์แบบศิลปิน  แต่เป็นลักษณะของความสามารถทางด้านทักษะ เนื่องจากการสร้างงานมักอยู่ในกรอบของขนบนิยมที่สืบทอดกันมากในกลุ่มของตน ทั้งรูปแบบและลวดลาย เพราะมีความผูกพันอยู่กับประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิตของกลุ่มชนการแสดงออกจึงเน้นไปที่การแสดงทักษะใช้ความละเอียดออกมากับผลงาน
               ๓. ช่างพื้นบ้านจะไม่เขียนชื่อลงบนผลงานของตน เพราะทำขึ้นเพื่อใช้สอยแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งต่างไปจากงานของศิลปินที่ต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ในผลงานของตน
โดยสรุปช่างพื้นบ้านจะมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญคือ เป็นช่างที่ได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดการช่างตามแบบแผน ที่เป็นขนบนิยมในท้องถิ่นของตน อาจได้รับมาจากบรรพบุรุษหรือ ช่างพื้นบ้านในท้องถิ่น โดยมิได้ผ่านการศึกษา แต่ความสามารถเกิดมาจากทักษะการฝึกฝนที่ต่อเนื่องจนชำนาญ
               ช่างพื้นบ้านจะกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นในทุกๆภาคของประเทศ บางหมู่บ้านจะมีช่างพื้นบ้านที่มีความสามารถในการทำงานช่างประเภทเดียวกันทั้งหมู่บ้าน จนทำให้หมู่บ้านนั้นกลายเป็นหมู่บ้านช่างไปเลยก็มีไม่น้อย เช่น บ้านช่างหล่อ    ที่มีการหล่อพระพุทธรูป   ช่างพื้นบ้านจึงมีความสำคัญ ในการสืบทอดการช่างพื้นบ้านของไทย  ให้ดำรงสืบไป
๑.๔  ประเภทของงานศิลปะพื้นบ้าน
             การจัดแบ่งประเภทของงานศิลปะพื้นบ้าน สามารถจัดแบ่งได้หลายแนวคิด เช่น จัดแบ่งตามประเภทของการใช้สอย ซึ่งก็อาจแบ่งเป็น เครื่องใช้ในครัว เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในการดักจับสัตว์ เครื่องใช้ในพิธีกรรม ฯลฯ จัดแบ่งตามกรรมวิธีกระบวนการสร้างงาน เช่น การแกะสลัก การปั้น การจักสาน ฯลฯ จัดแบ่งตามวัสดุในการสร้างงาน  เช่น  งานไม้  งานกระดาษ  งานหนัง ฯลฯ  ซึ่งก็แล้วแต่การจัดความคิดรวบยอดของผู้แบ่งว่า ใช้เกณฑ์ใดมาจัดแบ่ง
                ในที่นี้จะจัดแบ่งงานศิลปะพื้นบ้านเป็น ๒ สาขา คือ
๑.  สาขาหัตถกรรม
๒. สาขาทัศนศิลป์