บทที่ ๒
ปัจจัยที่ทำให้เกิดศิลปะพื้นบ้าน
๒.๑ ความจำเป็นด้านการใช้สอย
การใช้ชีวิต ประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า จนถึงเวลาพักผ่อนนอนหลับ ต้องพึ่งพาบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เกิดความสะดวกสบายในการปฏิบัติงาน หรือการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ นับตั้งแต่การหุงหาอาหารในตอนเช้า ต้องใช้ภาชนะหุงต้ม ตักน้ำ ใส่ข้าวปลาอาหาร เช่น เตา หม้อไห ถ้วย จาน ชาม ฯลฯ การออกไปประกอบอาชีพที่คนชนบทส่วนใหญ่ทำกัน คือ อาชีพเกษตรกรรม กสิกรรม ก็ต้องพึ่งพาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ชาวนาชาวไร่ต้องใช้คราด ไถ แอก กระออม กระบุง กระจาด ตะกร้า เพื่อทำไร่ไถนา ลำเลียงพืชผล ชาวบ้านในท้องถิ่นที่มีแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ต้องใช้เครื่องมือในการดัก จับ ขัง สัตว์น้ำ เช่น ข้อง อีจู้ ลอบ ไซ กระชัง เพราะความจำเป็นในการใช้สอยนี้เองชาวบ้านจึงต้องทำเครื่องใช้เหล่านี้ขึ้นใช้เองในท้องถิ่น
ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จะมีรูปแบบตรงตามวัตถุประสงค์และเหมาะสมกับสภาพท้องที่นั้น หรือให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เช่น การสานกระติบ หรือ ก่องข้าว มักมีรูปร่างที่ไม่สูงนัก เพราะต้องใช้มือล้วงหยิบข้าวรับประทาน และนิยมทำเป็นสองชั้น เพื่อช่วยรักษาข้าวที่นึ่งสุกแล้วให้อยู่ในสภาพดี ไม่บูดแฉะเพราะไอน้ำที่เกาะ ทำให้ข้าวอยู่ได้นาน ขนาดของกระติบก็จะมีขนาดที่เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยในโอกาสต่างๆ เช่น กระติบข้าวสำหรับไปวัดหรือสำหรับแม่ค้าในตลาดก็มักมีขนาดใหญ่ กระติบข้าวประจำบ้านก็จะมีอีกขนาดหนึ่ง ในการเดินทางไกลหรือการพกพาในการออกไปประกอบอาชีพก็จะมีอีกขนาดหนึ่งและเพื่อให้เหมาะสม สะดวกต่อการนำติดตัวไปขณะเดินทาง จึงทำที่สำหรับหิ้วหรือสะพาย
ความจำเป็นด้านการใช้สอยจึงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญมาก ที่ทำให้ชาวบ้านต้องสร้างเครื่องมือหัตถกรรมเพื่อตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน การประกอบอาชีพเป็นเหตุผลหลัก
๒.๒ ทรัพยากรท้องถิ่น
สภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่ง ย่อมมีทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เช่น จะพบว่าไม้ไผ่มักขึ้นอยู่ตามแถบร้อนชื้นทั่วไปได้แก่ จังหวัดชลบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ภาคเหนือก็จะพบไม้สักขึ้นอยู่มากมาย ชาวบ้านจึงรู้จักใช้ภูมิปัญญาในการเลือกสรรวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติตามท้องถิ่นของตนเหล่านั้น มาดัดแปลงสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานตามหน้าที่ใช้สอย ดังจะพบได้จากในภาคใต้ ชาวบ้านนิยมนำใบจาก ใบหลาวโอนมาทำเป็นภาชนะใช้ตักน้ำ นำต้นกระจูดที่มีอยู่มากมาสานเป็นเสื่อ นำย่านลิเพาสานเป็นตะกร้า ส่วนภาคเหนืออุดมไปด้วยไม้สัก จึงนำไม้สักมาปลูกสร้างบ้านเรือน ทำสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งประดับตกแต่ง ทั้งภาคเหนือยังมีต้นหม่อนที่เหมาะกับการเลี้ยงไหมที่สามารถนำรังของมันมาทอเป็นผ้าไหม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ด่านเกวียนจะมีดินดีที่เหมาะกับการทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น ไห ปลาร้า โอ่ง อ่างน้ำ เพื่อใช้สอยสำหรับชาวบ้านและส่งไปขายยังถิ่นอื่นบ้าง
ทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์รู้จักเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นของตนสร้างสรรค์สิ่งของเครื่องใช้อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ เราจะพบว่าวัสดุต่างชนิดกันมาสร้างให้เกิดประโยชน์ใช้สอย แม้จะตอบสนองความต้องการใช้สอยอย่างเดียวกัน แต่ก็ยังมีความต่างกันเพราะวัสดุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เฉพาะตัวแตกต่างกัน เช่น การจักสานด้วยไม้ไผ่ต่างชนิดกันผลงานเครื่องจักสานก็จะออกมาไม่เหมือนกัน เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนก็จะมีเอกลักษณ์ คือสีสันที่สวยงาม ต่างจากเครื่องปั้นดินเผาของทางภาคเหนือ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวัสดุทรัพยากรท้องถิ่นที่ชาวบ้านสามารถใช้ภูมิปัญญามาปรับแปรให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์นั่นเอง
มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการปรับตัวแก้ปัญหา ปัญหาที่มนุษย์ต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไปได้ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้กำหนดนั่นคือ สภาพของภูมิประเทศและสภาพดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้น จึงทำให้มนุษย์สร้างงานขึ้นมาเป็นการแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาพธรรมชาติ
สภาพภูมิศาสตร์มีผลต่อการสร้างที่พักอาศัยเป็นอันดับแรก การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามฤดูกาล ทำให้มนุษย์ต้องแก้ปัญหาในการออกแบบบ้านเรือนสำหรับพักอาศัยให้เกิดความเหมาะสม ปกป้องความร้อนความหนาวหรือภัยพิบัติ เช่น บริเวณท้องที่ภาคกลางของประเทศไทยซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม พอฤดูฝนก็มีความชื้นแฉะเนื่องจากฝนตก หลังจากฤดูฝนก็เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองก็จะขึ้นจนล้นตลิ่ง เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติที่หมุนเวียน เปลี่ยนไปเช่นนี้ ชาวบ้านอาศัยอยู่แถบนี้ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการออกแบบบ้านเรือนพักอาศัยที่ทำเป็นแบบใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันปัญหาในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากินอีกด้วย
และเนื่องจากการเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือน ชาวบ้านมักเลือกอยู่บริเวณริมฝั่งน้ำหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อความสะดวกต่อการใช้น้ำอุปโภค บริโภค และเป็นทางสัญจรไปมา ลักษณะเช่นนี้เราจะทราบว่า ชุมชนที่อยู่บริเวณริมน้ำก็จะสร้างที่พักอาศัยในลำน้ำในลักษณะของเรือนแพ
นอกจากบ้านเรือนแล้ว สภาพภูมิประเทศยังเป็นเหตุที่ต้องทำให้ชาวบ้านแก้ปัญหาเรื่องของการสัญจรไปมาทางบกและทางน้ำด้วยการสร้างพาหนะ เช่น เรือ แพ เรือซึ่งมีหลายลักษณะตามแต่สภาพของภูมิประเทศ จึงแตกต่างกันไป เช่น เรือที่ใช้ในลำคลอง เรือที่ใช้ในทะเล เช่น เรือประมง พาหนะทางบก เช่น เกวียนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายตามการใช้งานต่างสภาพภูมิประเทศ
สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตว่าสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เป็นส่วนที่ทำให้ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำมาหากิน เพื่อให้เหมาะสมสภาพแวดล้อมนั้น ๆ จะเห็นได้จากอุปกรณ์เครื่องมือดักจับสัตว์ เช่น ข้อง ก็จะมีทั้งข้องสะพายแบบธรรมดาและข้องลอยที่มีประโยชน์ใช้สอยต่างกันตามสภาพแวดล้อม ข้องสะพายจะใช้ใส่สัตว์น้ำตามแหล่งน้ำตื้น จะทำให้เป็นทรงสูงใช้สะพาย ส่วนข้องลอยจะทำทรงเตี้ยทางนอน ติดทุ่นลอยด้วยไม้ที่เบา สามารถลอยน้ำได้ให้ส่วนล่างของข้องจมน้ำพอประมาณ ข้องลอยจะลอยตามผู้ใช้ไป ซึ่งมีความสะดวกเวลาใช้ในสภาพที่น้ำลึก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่ใช้ต่างสภาพภูมิประเทศ
ส่วนสภาพดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อการสร้างบ้านเรือนนั้น จนเห็นได้ว่ามีการแก้ปัญหาเรื่องของสภาพอากาศ ในสิ่งที่ชาวบ้านสร้างขึ้น เช่น การสร้างเรือนพักอาศัยในสภาพท้องถิ่นที่มีอากาศร้อนอบอ้าว การสร้างบ้านจึงต้องพยายามเปิดช่องประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ส่วนเรือนพักอาศัยในภาคเหนือที่ค่อนข้างหนาวเย็น จะมีการออกแบบให้มีช่องหน้าต่าง ประตูที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับเรือนไทยในภาคกลาง
๒.๔ ประเพณีและวัฒนธรรม
สังคมและวัฒนธรรม เช่น สังคมในชนบทของไทย จะมีการรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้างตามสภาพภูมิประเทศ การรวมตัวดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดลักษณะของหมู่บ้านขึ้น ในการอยู่ร่วมกันของสังคมชนบทเช่นนี้ ก็จะต้องมีสิ่งที่สมาชิกในสังคมยอมรับนับถือและปฏิบัติตามต่อกันในทุกคนสังคมและท้องถิ่นสืบทอดต่อกันมา ที่เรียกว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การทำบุญตักบาตร การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับ การเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย หรือในวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ การสร้าง ประดิษฐ์เครื่องใช้ในพิธีจึงเกิดขึ้น
กิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรม มีส่วนที่สำคัญในการปรับปรุงศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งแต่เกิดมุ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยให้มีความก้าวหน้าขึ้น เพราะการใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมหรือคนหมู่มากต้องปรับปรุงงานให้มีความประณีตมากขึ้น ทั้งเป็นการสนองตอบต่อความต้องการด้านจิตใจที่เห็นได้ทั่วไปคือผ้านุ่งห่ม เพื่อจะนุ่งห่มไปวัด หรือในงานพิธีที่ต้องพิถีพิถันใช้ชิ้นที่ประณีตงดงามกว่าชิ้นที่ใส่ไปทำไร่ไถนา เครื่องหาบ-คอน เมื่อต้องหาบคอนสิ่งของไปทำบุญที่วัดย่อมต้องใช้ชิ้นที่ประณีตงดงามมากกว่าชิ้นที่ลำเลียงพืชผลไปตลาด ประเพณีของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชนมีความแตกต่างกันเท่าใด งานศิลปะพื้นบ้านก็นิยมมีลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น
นอกเหนือจากประเพณีที่เป็นปัจจัยให้ต้องมี การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้แล้ว สภาพทางวัฒนธรรมที่เป็นการปลูกฝังกันมาครั้งบรรพบุรุษในการอบรมสั่งสอนลูกหลานให้อยู่ในศีลธรรม น้ำใจเมตตาอารี โอบเอื้อ ก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นในหลายลักษณะ เช่น ในภาคเหนือหรือบางท้องถิ่นของภาคอีสาน เราจะพบว่า มีการวางตุ่มน้ำขนาดเล็กใส่น้ำสะอาดตั้งไว้หน้าบ้าน หรือบริเวณส่วนชานหรือระเบียง จะมีส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ “ร้านน้ำ” เพื่อใช้เป็นที่ตั้งหม้อน้ำดินเผาเล็กๆ ไว้สำหรับใส่น้ำดื่ม พร้อมกระบวนตักน้ำไว้ทุกบ้าน เพื่อให้แขกผู้มาเยี่ยมเยือนดื่มหรือให้กับผู้ที่สัญจรไปมาได้ดื่มแก้กระหาย
นอกจากนี้แล้วยังมีการตั้งศาลาน้ำร้อน คือ ศาลาที่มีผู้สร้างอยู่ริมทางสัญจรทางบก หรือศาลาท่าน้ำ มีการจัดเตรียมน้ำร้อนน้ำชาไว้สำหรับผู้เดินทางผ่านไปมา จะได้นั่งพักหายเหนื่อย ศาลาเหล่านี้ชาวบ้านหรือคหบดีใจบุญในละแวกนั้น ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้สัญจรได้มาพักหลบแดด หลบฝน เป็นการชั่วคราว ซึ่งก็มีความเชื่อว่าเป็นการสร้างกุศลอย่างหนึ่งและในบางครั้งจะเห็นว่าเป็นการสร้างเพื่ออุทิศแด่บุพการีหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ในด้านการแต่งกายของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ยังทำให้เราเห็นลักษณะของการสืบทอดวัฒนธรรมในการสร้างรูปแบบลวดลายที่ยืดถือกันมา
ในการสร้างงานหัตถกรรม เช่น งานทอผ้า ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนที่ปรากฏอยู่เฉพาะชุมชนนั้น ๆ เช่น การทอผ้าขิดของภาคอีสาน ซิ่นทอยกดอกของลำพูน ซิ่นน้ำไหลของไทยลื้อ เป็นต้น
๒.๕ คติความเชื่อ
คติความเชื่อของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น หรือกลุ่มชน เป็นสิ่งที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่น ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ผีสาง เทวดา การเกิด การตาย เรื่องเกี่ยวกับศาสนา การประกอบอาชีพ ฯลฯ ซึ่งมีแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นขึ้นกับสภาพแวดล้อม คติความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการสร้างประดิษฐ์อุปกรณ์ เครื่องใช้ที่มีจุดมุ่งหมายในการยึดเหนี่ยวจิตใจทำขึ้นเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่จะมารังควานความสงบสุขของตน ของครอบครัว ของชุมชนและให้เป็นสิริมงคลต่อบุคคลดังกล่าวให้สังคมด้วย สิ่งของเครื่องใช้ในสถานที่และโอกาสต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยคติความเชื่อนี้ ซึ่งอาจเป็นของใช้ในพิธีกรรม เทศกาลหรือในชีวิตประจำวัน เช่น ในครัวเรือน หรือการประกอบอาชีพ
ในด้านพิธีกรรม เช่น การเกิด เมื่อผู้หญิงคลอดลูก ต้องมีการอาบน้ำเด็ก ตัดสายสะดือ ฝังรกไว้โดยใส่หม้อดินนำไปไว้ที่หัวบันไดหรือแขวนไว้ที่ต้นไม้ เพื่อเด็กจะได้ไม่เที่ยวไกล ความเชื่อเกี่ยวกับการตายของผู้หญิงที่คลอดบุตรว่าผีเป็นผู้มาเอาชีวิตไป จึงมีการปั้นตุ๊กตา พร้อมนำของเซ่นไหว้ไปไว้ที่ทางสามแพร่งหรือทิศทางที่เชื่อว่าผีจะผ่านไปยังบ้าน จากนั้นทำพิธีบอกกล่าวผีและทุบคอตุ๊กตานั้นให้หัก เป็นการหลอกผีให้มาเอาชีวิตตุ๊กตาแทนผู้หญิงที่คลอดบุตร และบุตร ซึ่งเรียกตุ๊กตานี้ว่า ตุ๊กตาเสียกบาล จะมีการทำพิธีตามความเชื่อนี้ต่อเมื่อหญิงนั้นเจ็บท้องใกล้คลอดบุตร
ความเชื่อเกี่ยวกับการทำตุงหรือธงของภาคเหนือ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาหรือสร้างอุทิศแก่ผู้ตาย โดยเชื่อว่าตุงมีลักษณะเป็นผืนยาว เมื่อสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาหรืออุทิศให้ผู้ตายแล้ว ผู้ตายจะสามารถเกาะชายตุงขึ้นสวรรค์ หรือไปสู่ดินแดนแห่งพุทธภูมิได้
ความเชื่อของทางภาคเหนือในการนำหำยนต์คือไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แกะสลักเป็นลวดลาย ติดตั้งไว้เหนือประตูทางเข้าสู่ห้องนอนของเรือน ซึ่งในบางครั้งก็พบเห็นได้ตามโบสถ์หรือวิหาร เพื่อป้องกันความชั่ว อัปมงคลความเลวร้าย มิให้ล่วงล้ำเข้าไปสู่ผู้พักอาศัย
YouTube - YouTube - Videoodl.cc
ตอบลบYouTube - Best Videos, Blogs & Blogs. Find your channel and get exclusive access mp3 juice to YouTube channel videos. Check out the latest videos, videos and clips in