วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

01 - ความรู้เรื่องศิลปะพื้นบ้าน

บทที่ ๑
ความรู้เรื่องศิลปะพื้นบ้าน

๑.๑  ความหมายของศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art)
มีนักวิชาการด้านศิลปะพื้นบ้านซึ่งได้ให้ความหมายของศิลปะพื้นบ้านไว้ดังนี้
                วิโรฒ  ศรีสุโร (๒๕๒๘:๘๖) ให้ความหมายว่า เป็นผลงานสำเร็จของชาวบ้านที่มีคุณค่าทางศิลปะพอสมควร เป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของช่างระดับพื้นบ้าน ที่สามารถแก้ปัญหาธรรมดาๆ ให้ดูดี มีลักษณะสืบทอดกันมาต่อหลายชั่วอายุคน ส่วนใหญ่จะเป็นผลงาน   ทางเครื่องมือเครื่องใช้ในการยังชีพ และจรรโลงใจในพุทธศาสนา ผลิตผลของงานศิลปะพื้นบ้าน    จึงเน้นหนักในทางประโยชน์ใช้สอยเป็นจุดใหญ่ ความงามจึงแสดงออกมาจากความเรียบง่าย ซื่อ ไม่รกรุงรัง หรือมากไปด้วยการตกแต่งจนเกินเลย
                 มโน   พิสุทธิรัตนานนท์  (๒๕๓๙:๔)  ได้กล่าวว่า หมายถึง  ผลงานศิลปะที่ชาวบ้านหรือกลุ่มคนในกลุ่มชนในแต่ละพื้นถิ่นประดิษฐ์สร้างขึ้นตามความจำเป็น  และความรู้สึกนึกเห็นตนเอง  เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านการดำรงชีวิต  และความต้องการคุณค่าด้านความงาม  ผลงานเป็นศิลปะพื้นบ้าน  หรือศิลปกรรมพื้นถิ่น  และหัตถกรรมพื้นบ้าน  ซึ่งมีลักษณะเป็นงานช่างฝีมือหรือช่างศิลป์  และอาจเรียกว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรม
                 และยังหมายถึง  ผลงานศิลปะที่ใช้วัสดุพื้นถิ่น  ในการประดิษฐ์สร้าง  ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ  คือ  ความคิด ฝีมือ ความเรียบง่าย  ประโยชน์ใช้สอย  และความงามบนพื้นฐานของธรรมชาติแวดล้อม  สังคม  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ  ศิลปะพื้นบ้านจึงมีความหมายต่อการดำรงชีวิต  และมีคุณค่าต่อการบำรุงขวัญ  เป็นศิลปกรรมที่มีการศึกษาและสืบสานที่เป็นไปในเชิงวัฒนธรรม
จากคำนิยามของ ศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) จะเห็นได้ว่า ศิลปะพื้นบ้านหรือศิลปะชาวบ้าน เป็นวัฒนธรรมด้านวัตถุสร้างขึ้นโดยชาวบ้าน ที่ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างสิ่งของ เครื่องใช้ สิ่งก่อสร้าง งานศิลปะ ออกมาให้เห็นเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นของตน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้มิได้ผ่านการศึกษามาอย่างเป็นระบบ หากแต่เป็นการสืบทอดมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ที่ถ่ายทอดเรียนรู้โดยอาศัยการถ่ายทอดปากเหล่าและการเลียนแบบประกอบกันไป การสร้างงานศิลปะพื้นบ้านทำขึ้นเพื่อสอบสนองความเป็นด้านประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ประเพณี ความเชื่อ   ของกลุ่มชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมิได้มุ่งประโยชน์ด้านความงามเป็นหลัก
โดยทั่วไปแล้ว  ศิลปะพื้นบ้าน  จะเรียกรวมกับ  หัตถกรรม  คือ  ศิลปหัตถกรรม  เป็นศิลปหัตถกรรมที่เกิดจากฝีมือคนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง การประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นไปตามเทคนิคและรูปแบบที่ถ่ายทอดกันในครอบครัวโดยตรงจากพ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  โดยมีจุดประสงค์หลัก  คือ  ทำขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน  งานศิลปหัตถกรรมได้ถ่ายเท  มีอิทธิพลแก่กันและกัน  เช่นเดียวกับคติพื้นบ้าน  แล้วปรับปรุงให้เข้ากับสภาพของท้องถิ่น  จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง
                ศิลปะพื้นบ้านมักพบได้ทั่วไปตามชุมชนหรือในชนบทตามท้องถิ่นต่าง ๆ   ผู้สร้างมักเป็นชาวบ้านในท้องถิ่น ลักษณะของเครื่องมือ เครื่องใช้สิ่งก่อสร้าง จึงทำขึ้นมาเพื่อคนทั่วไปใช้ มิใช่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้หรือถ่ายทอดในหมู่บุคคลชั้นสูง ศิลปะพื้นบ้านจึงมีลักษณะที่เรียบง่าย  ไม่ซับซ้อน ไม่ผูกพันหรือขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ทฤษฎีทางศิลปะใด ๆ
                งานศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไปแล้ว จะแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมในแต่ละท้องถิ่นในลักษณะของรูปแบบ ขบวนการผลิต และวัสดุที่ใช้ ส่วนใหญ่มักเป็นไปเพื่อการดำรงชีพมากกว่า เพราะฉะนั้นศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอยู่ของชาวบ้าน   ในท้องถิ่นเป็นสำคัญ สิ่งที่เป็นศิลปะพื้นบ้านจึงมีลักษณะเป็นไปตามถิ่นกำเนิด ซึ่งอาจมีรูปแบบ วิธีการ และวัสดุแตกต่างกันไป ทั้งที่เป็นการใช้สอยอย่างเดียวกัน เช่น ภาชนะสำหรับตักน้ำที่ต้องมีไว้ใช้ทุกครัวเรือน ทางภาคใต้จะทำด้วยใบจากหรือกาบของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือต้นหลาวโอน ที่เรียกว่า หมา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นของทางใต้ ที่มีต้นหลาวโอนหรือต้นจากขึ้นอยู่มาก ทางภาคเหนือเป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่มีไม้ยาว ๒ ชิ้นที่ปลายไขว้กันเป็นที่ลือเรียกว่า น้ำทุ้งภาคอีสานจักสานด้วยไม้ไผ่เช่นกัน และเอาชันยาเพื่อป้องกันน้ำรั่ว มีไม้ดัดโค้งเป็นที่ถือ เรียกว่า คุ โดยเราจะเห็นว่าภาชนะทั้ง ๓ ชนิด มีจุดมุ่งหมายและประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียวกัน แต่ด้วยเพราะอยู่ในแหล่งกำเนิดท้องถิ่นที่ต่างกัน จึงทำให้ทรัพยากรที่ใช้มีความต่างกัน หรืออาจมีวัสดุเดียวกัน แต่วิธีการสร้างงานและรูปแบบที่สืบทอดของแต่ละถิ่นเป็นไปอย่างเฉพาะตัวเฉพาะถิ่น ซึ่งรวมถึงการมีรสนิยมตกทอดเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาในแต่ละท้องถิ่นที่ต่างกันด้วย
                ลักษณะพิเศษของศิลปะพื้นบ้าน เป็นผลงานที่มีความเรียบง่ายรูปแบบและวิธีการเป็นไปตามสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน แม้ว่าศิลปะพื้นบ้านส่วนใหญ่จะทำขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันหรือต่อสังคม เศรษฐกิจ ศาสนาและอื่นๆ โดยมีจุดประสงค์ที่ตรงตามหน้าที่เด่นชัดในตัวมันเอง แต่ก็พบว่ามีผลงานศิลปะพื้นบ้านจำนวนไม่น้อยที่ได้มีการทำขึ้นตามความพอใจของชาวบ้านเอง ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยไม่ได้รับใช้ความจำเป็นและความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น แต่เป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความรู้สึกด้านอารมณ์ อันเป็นสิ่งธรรมดาโลกที่มนุษย์พึงแสวงหาความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าบางสมัย บางเวลา ชาวบ้านอาจมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ มีเวลาเหลือเฟือที่จะประดิษฐ์ ประดับประดาผลงานให้มีความวิจิตรพิสดารกว่าเป็นอยู่ เช่น การเขียนภาพจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์และวิหาร การเขียนลวดลายลงบนเรือกอและ การแกะสลักลวดลายลงบนพนักด้านหน้าและท้ายของเกวียน ซึ่งงานเหล่านี้ล้านแล้วตามีรูปแบบที่เรียบง่าย แต่แสดงถึงความสุนทรีของผู้ทำ และเราจะพบว่าบางสิ่งบางอย่างทำขึ้นมาโดยแฝงความเชื่อไว้ด้วย
๑.๒  ลักษณะของงานศิลปะพื้นบ้าน
ศิลปะพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะตัวในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. ใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย เป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของงานพื้นบ้านเนื่องจากในแต่ละท้องถิ่น     มีทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อมในการอยู่อาศัย วัสดุในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่รองรับการคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นใช้ ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
๒. ทำขึ้นเพื่อการใช้สอย ศิลปะพื้นบ้านส่วนใหญ่แล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันตั้งแต่ การหุงอาหาร เช่น เตาดินเผา หม้อดินเผา หวดนึ่งข้าวเหนียว กระบุง กระจาด ฯลฯ การประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือในการดักจับสัตว์น้ำ ได้แก่ ข้อง ลอบ ไซ อีจู้ เครื่องใช้ในการทำนา เช่น คราด แอก ไถ ฯลฯ พิธีกรรมทางศาสนา เช่น ก่องข้าวขวัญของภาคอีสาน ขันซี่ของภาคเหนือ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตอบสนองด้านการใช้สอย มิได้มุ่งทำเพื่อตอบสนองทางด้านสุนทรียภาพ หากแต่สุนทรียภาพนั้นจะเกิดจากประสบการณ์ทักษะของผู้ทำในความเป็นผู้ชำนาญ
๓. เป็นผลผลิตที่ผู้ใช้และผู้สร้างเป็นผู้เดียวกัน งานศิลปะพื้นบ้านเกิดจากความเต็มใจของชาวบ้านในการสร้างสรรค์ โดยมีความจำเป็นในการใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ดังได้กล่าว   แล้วว่าศิลปะพื้นบ้านทำขึ้นเพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอย มิได้มุ่งทำเพื่อเศรษฐกิจหรือด้านการค้าขาย ไม่มีการแบ่งงานตามระบบของอุตสาหกรรม ชาวบ้านทำขึ้นเองในครัวเรือนของตน
๔. เป็นงานที่สร้างขึ้นด้วยมือ และใช้เครื่องมือที่ชาวบ้านที่คิดขึ้น มิได้อาศัยเครื่องจักรแต่อย่างใด ชาวบ้านจะสร้างงานด้วยมือตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาโดยการบอกเล่า ให้ทำตามแบบของที่มีอยู่
๕. มีรูปแบบเรียบง่าย แสดงลักษณะออกมาซื่อ ๆ ตรงตามหน้าที่ใช้สอยและมีความสัมพันธ์กับสัดส่วนของร่างกาย
๖. การมีรูปแบบเฉพาะถิ่น เกิดจากการสร้างสรรค์งานที่สืบต่อเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ อาจในลักษณะของหมู่บ้าน ท้องถิ่น ตระกูล สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานจนรู้จักกันดีทั่วไป จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น เครื่องจักสานพนัสนิคม เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ร่มบ่อสร้าง เป็นต้น (มารุต อัมรานนท์ ๒๕๓๓:๕) และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีรูปแบบเฉพาะถิ่น น่าจะเกิดจากการใช้วัสดุท้องถิ่นที่มีแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เราจะพบว่าวัสดุจากธรรมชาติบางชนิดไม่สามารถขึ้นได้  ในทุก ๆ พื้นที่    การมีทรัพยากรท้องถิ่นที่จำกัดในบางพื้นที่ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้งานบางชนิด เป็นตัวแทนของท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ เช่น หมาตักน้ำ ซึ่งเป็นของภาคใต้ ทำมาจากใบจากกาบหมาก ต้นหลาวโอน ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งไม่พบว่าภาคใดหรือท้องถิ่นใดนอกจากภาคใต้ที่มีภาชนะตักน้ำที่มีรูปแบบเช่นนี้ หรือเครื่องเขินที่เป็นรูปแบบเฉพาะของภาคเหนือ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัสดุพื้นถิ่นที่มีการนำมาใช้ ได้แก่ ไม้ไผ่ที่นำมาจักสาน หรือไม้ที่นำมากลึง แล้วใช้รักหรือหาง ซึ่งเป็นยางไม้ที่ได้จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ทางภาคเหนือทั่วไป ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในประเด็นของการ  มีรูปแบบเฉพาะถิ่น แต่จะชัดเจนมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยออกไป ตามองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้นๆ
๗. เป็นงานที่ใช้เวลาว่างในการสร้างสรรค์ เป็นการสร้างงานที่ไม่ได้คำนึงถึงเวลาในการสร้าง โดยมักใช้เวลาว่างหลักจากการงานประจำคือการกสิกรรม ซึ่งทำให้ในบางช่วงเวลาของฤดูกาล โดยไม่จำเป็นต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดทั้งปี ในช่วงเวลาว่างชาวบ้านก็จะหันมาทำงานอื่น เช่น จักสาน ทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่ได้เป็นอาชีพหลักแต่อย่างใด ผลผลิตที่เกิดขึ้นนำมาใช้ในครัวเรือน แต่หากว่าเหลือจากการใช้สอยจึงนำมาแลกเปลี่ยนกับผลผลิตอย่างอื่น
๘. เป็นงานที่สะท้อนวิธีการดำเนินชีวิต เครื่องมือ เครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านทำขึ้น จะเห็นว่าลักษณะการใช้สอยเป็นตัวกำหนดรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้นั้น การใช้สอยจึงเป็นการบ่งชี้ถึงวิถีทางการดำเนินชีวิต และค่านิยมที่สืบทอดกันมายาวนาน
๑.๓  ช่างผู้สร้างสรรค์งานศิลปะพื้นบ้าน
         การสร้างสรรค์งานพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น ย่อมต้องอาศัยฝีมือของช่างซึ่งอาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ และได้รับการฝึกฝนทำงานช่างจากครูช่างในท้องถิ่น หรือเป็นการถ่ายทอดในครอบครัว จนมีฝีมือที่จะสร้างงานไว้ใช้ในครัวเรือนของตน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของบรรดาช่างชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ  ในบาง ครั้ง ช่างก็คือพระสงฆ์ที่ได้อุทิศตนในการสร้างศาสนสถาน รวมถึงศิลปกรรมที่ใช้ตกแต่งรูปเคารพ เพื่อทะนุบำรุงศาสนา และเพื่อบุญกุศลตามความเชื่อที่ตกทอดกันมา
                ลักษณะของช่างพื้นบ้าน มีดังนี้
                ๑. เป็นช่างที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบันทางการช่าง อย่างเป็นระบบคือเป็นช่างชาวบ้านที่ฝึกหัดทำงานช่างมาจากบรรพบุรุษในครอบครัวของตน หรือฝึกหัดจากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านของตน        ตามประเภทของงานหัตถกรรมที่สนใจ เช่น จักสาน เครื่องปั้นดินเผา แกะสลัก การช่างพื้นบ้านงานที่ชาวชนบทมักทำได้แทบทุกครอบครัว เพราะต้องทำขึ้นใช้สอยในครอบครัวของตนเพื่อใช้เอง จึงมักสืบทอดกันในครอบครัวและสอนกันในหมู่เพื่อนบ้าน การเรียนรู้จึงเป็นการเรียนด้วยการฝึกฝนเป็นหลัก
                ๒. ความสามารถของช่างพื้นบ้าน มักไม่ใคร่มีการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์แบบศิลปิน  แต่เป็นลักษณะของความสามารถทางด้านทักษะ เนื่องจากการสร้างงานมักอยู่ในกรอบของขนบนิยมที่สืบทอดกันมากในกลุ่มของตน ทั้งรูปแบบและลวดลาย เพราะมีความผูกพันอยู่กับประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิตของกลุ่มชนการแสดงออกจึงเน้นไปที่การแสดงทักษะใช้ความละเอียดออกมากับผลงาน
               ๓. ช่างพื้นบ้านจะไม่เขียนชื่อลงบนผลงานของตน เพราะทำขึ้นเพื่อใช้สอยแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งต่างไปจากงานของศิลปินที่ต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ในผลงานของตน
โดยสรุปช่างพื้นบ้านจะมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญคือ เป็นช่างที่ได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดการช่างตามแบบแผน ที่เป็นขนบนิยมในท้องถิ่นของตน อาจได้รับมาจากบรรพบุรุษหรือ ช่างพื้นบ้านในท้องถิ่น โดยมิได้ผ่านการศึกษา แต่ความสามารถเกิดมาจากทักษะการฝึกฝนที่ต่อเนื่องจนชำนาญ
               ช่างพื้นบ้านจะกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นในทุกๆภาคของประเทศ บางหมู่บ้านจะมีช่างพื้นบ้านที่มีความสามารถในการทำงานช่างประเภทเดียวกันทั้งหมู่บ้าน จนทำให้หมู่บ้านนั้นกลายเป็นหมู่บ้านช่างไปเลยก็มีไม่น้อย เช่น บ้านช่างหล่อ    ที่มีการหล่อพระพุทธรูป   ช่างพื้นบ้านจึงมีความสำคัญ ในการสืบทอดการช่างพื้นบ้านของไทย  ให้ดำรงสืบไป
๑.๔  ประเภทของงานศิลปะพื้นบ้าน
             การจัดแบ่งประเภทของงานศิลปะพื้นบ้าน สามารถจัดแบ่งได้หลายแนวคิด เช่น จัดแบ่งตามประเภทของการใช้สอย ซึ่งก็อาจแบ่งเป็น เครื่องใช้ในครัว เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในการดักจับสัตว์ เครื่องใช้ในพิธีกรรม ฯลฯ จัดแบ่งตามกรรมวิธีกระบวนการสร้างงาน เช่น การแกะสลัก การปั้น การจักสาน ฯลฯ จัดแบ่งตามวัสดุในการสร้างงาน  เช่น  งานไม้  งานกระดาษ  งานหนัง ฯลฯ  ซึ่งก็แล้วแต่การจัดความคิดรวบยอดของผู้แบ่งว่า ใช้เกณฑ์ใดมาจัดแบ่ง
                ในที่นี้จะจัดแบ่งงานศิลปะพื้นบ้านเป็น ๒ สาขา คือ
๑.  สาขาหัตถกรรม
๒. สาขาทัศนศิลป์

4 ความคิดเห็น:

  1. มันมีกี่ประเภท มีอะไรบ้างอะคับ

    ตอบลบ
  2. As stated by Stanford Medical, It is indeed the one and ONLY reason women in this country get to live 10 years more and weigh on average 42 lbs less than us.

    (And actually, it has NOTHING to do with genetics or some secret diet and EVERYTHING related to "how" they are eating.)

    BTW, What I said is "HOW", not "WHAT"...

    CLICK this link to find out if this quick test can help you decipher your real weight loss potential

    ตอบลบ
  3. Slots Casino - JtmHub
    This 거제 출장안마 casino is licensed 김포 출장안마 and regulated in the 통영 출장샵 Republic of Curacao and approved by 공주 출장안마 the 김포 출장안마 Malta Gaming Authority. It offers great bonuses. Slots Casino.

    ตอบลบ